วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
กฎแห่งการประหยัดและฉลาดจ่าย
1 "จ่ายให้น้อยกว่าเงินที่หามาได้"
คือกฎข้อแรกที่ดัลรีมเพิลแนะว่า เป็นด่านแรกที่เจ้าของกระเป๋าเงินต้องคิดต้องทำก่อนปล่อยให้เม็ดเงินไหลออกไป และคำแนะนำนี้ชัดเจนถือเป็นกฎจำเป็นต้องทำ หรือท่องจำไว้ในใจเสมอว่า ไม่มีใครเคยใช้จ่ายเกินรายได้แล้ว จะสามารถไปถึงเป้าหมายความมั่นคงทางการเงินได้
2 "ซื้อแต่สิ่งสำคัญจำเป็น"
อีกกฎหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งดัลรีมเพิลเพิ่มเติมว่า นอกจากให้ซื้อแต่สิ่งสำคัญ และจำเป็นแล้ว ขอให้ลืมสิ่งของนอกรายการที่อยากได้ไปเลย หากเจ้าของเงินซื้อหาของใช้ที่จำเป็น รองรับความต้องการในการดำรงชีพขั้นพื้นฐานได้ครอบคลุมแล้ว เงินที่เหลือสามารถนำไปใช้อย่างรอบคอบในกิจกรรมอื่น การใช้เงินที่เหลืออย่างรอบคอบ ไม่ได้หมายถึงความรอบคอบในการคลั่งไคล้อยากได้ด้วยอารมณ์ชั่ววูบตามแฟชั่น การไล่ตามให้ทันสินค้าหรือของออกใหม่ล่าสุด ไม่ทำให้เจ้าของเงินมีความสุขเท่ากับจ่ายเงินซื้อของที่มีคุณค่าสำหรับตัวเอง อย่าเกิดความไม่มั่นใจในจุดยืนของตัวเอง แม้เพื่อนบ้านคิดว่าคุณกำลังตระหนี่ถี่เหนียว ด้วยการซื้อของตกรุ่นไม่ทันสมัย
3 "ไม่ซื้อสิ่งเกินจำเป็นหรือไม่อยู่ในปัจจัย
ดัลรีมเพิลย้ำว่าสิ่งของจำเป็นขั้นพื้นฐานในมุมมองของเขา หมายถึงอาหารต้องกินเป็นประจำ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และสิ่งของอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งตามปกติของใช้ชีวิตประจำวัน ต้องมีการลำดับการซื้อโดยการตัดสินใจด้วยตัวเอง และทำเหมือนเป็นหน้าที่
4 "ซื้อหาให้คำนึงถึงมูลค่ากับคุณค่า"
กฎข้อนี้หมายความว่า การซื้อต้องได้สินค้าดีที่สุด มีอายุการใช้งานนานที่สุด ให้คุ้มค่ากับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไป แต่ดัลรีมเพิลเตือนว่า อย่าคว้าเอาสิ่งของราคาถูกสุดในทันที เว้นเสียแต่ว่าเจ้าของเงินไม่สนใจหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพ โดยดัลรีมเพิลอธิบายว่าเจ้าของเงินจะต้องทำการสำรวจหาข้อมูลบ้าง และต้องมีเหตุผลกับไอเดียที่ดี ยิ่งการซื้อเพื่อจะได้ของชิ้นใหญ่ขึ้น ต้องวางแผนกันนานหน่อย หลังประเมินว่าอยากได้หรืออยากซื้อ แต่ของที่จะซื้อจึงต้องเน้นที่คุณภาพและอายุการใช้งาน
5 "ลงทุนเพื่อคุณภาพ"
สำหรับกฎข้อนี้ ดัลรีมเพิลแนะว่าเจ้าของเงินต้องนึกอยู่เสมอว่า การซื้อของแต่ละครั้งต้องได้มูลค่ากับอายุของสินค้ายาวนาน หรือมีความคงทนมากที่สุด ตามแหล่งต่างๆ มีสินค้าหรือสิ่งของรายการ ที่มีคุณสมบัติการใช้สอยมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งของใช้สอยที่สามารถกลายเป็นของอีกชิ้นหนึ่งที่มีความคงทนถาวรในบ้าน พยายามซื้อสิ่งของเครื่องใช้ไม้สอยภายในบ้านที่คงทน และอยู่ได้นานที่สุด หากเป็นไปได้ให้ใช้ได้นานจนตลอดชีวิตผู้ใช้ อย่างเช่น การหาซื้อจานชามอุปกรณ์ทานอาหารค่ำ ที่เจ้าของเงินสามารถเป็นเจ้าของ และใช้ประโยชน์ไปได้อีกนาน หรือหาซื้อไขควงสักตัวหนึ่งที่สามารถใช้ และเก็บรักษาไว้ได้คงทน จนสามารถนำไปใช้อย่างคุ้มค่าชั่วลูกชั่วหลาน ขอให้คิดอยู่เสมอว่า หากใช้จ่ายได้สินค้าตรงใจแถมประหยัดตั้งแต่ต้น จะช่วยขจัดปัญหาต้นทุนที่อาจบานปลายเพราะต้องคอยซื้อของใหม่มาทดแทนของเก่าที่ขาดคุณภาพไม่คงทน
6 "ให้คำนึงถึงความจำเป็นของตัวเอง" เ
พื่อไม่ให้ในบ้านรกไปด้วยของใช้ไม่ได้ใช้งาน โดยการซื้อของต่างๆ ไว้ล่วงหน้าโดยที่ยังไม่ต้องการนำมาใช้จริง กฎข้อนี้ของดัลรีมเพิล สามารถนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติตัดสินใจกับการซื้อของใช้งาน ที่ต้องเลือกรุ่น และยี่ห้อซึ่งมีหลากหลาย อย่างคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ขอให้จำไว้ว่า หากเจ้าของเงินยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ของฟุ่มเฟือยหรูหรา ให้หักห้ามใจ และอย่าได้ควักเงินซื้อของเกินความจำเป็นเหล่านี้
7 "ลองเลิกยึดติดกับยี่ห้อสินค้า"
อาจเป็นเรื่องยากกับการปรับเปลี่ยนนิสัยการใช้ของ เพราะจากที่เคยเดินเข้าไปหยิบน้ำยาซักผ้าหรือน้ำยาซักแห้งยี่ห้อเดิมทุกๆ ครั้ง บนชั้นวางจำหน่ายของตามห้าง ดัลรีมเพิลขอให้ผู้บริโภคลองเลือกใช้สินค้าอีกยี่ห้อหนึ่งที่มีราคาถูกกว่า หรือสินค้าทางเลือกอื่นๆ ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน แม้อาจไม่มียี่ห้อดังการันตีบ้างบางโอกาส ถือเป็นการลองใช้สินค้าที่มีคุณภาพเหมือนๆ กัน เพื่อจะได้จ่ายน้อยลง
8 "ซื้อด้วยความใจเย็น"
การซื้อสิ่งของเครื่องใช้ใดๆ ก็ตามแบบรีบร้อนฉุกละหุก โดยเฉพาะสิ่งของที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ อาจทำให้ผู้ซื้อรู้สึกผิดหวังได้ และในกรณีที่รู้ว่าเครื่องซักผ้าที่มีอยู่ใช้งานได้อีกไม่นาน ขอให้เริ่มต้นหาเครื่องซักผ้าใหม่ได้เลย แต่ก่อนจะตัดสินใจซื้อ ขอคิดให้นานทบทวนให้ดี ใจเย็นอีกสักหน่อย จะช่วยเจ้าของเงินประหยัดจ่ายไปได้อีกมาก หรืออย่างน้อยเจ้าของเงินยังมีเวลา สามารถประเมินบริหารงบประมาณได้ว่า จะซื้อเครื่องซักผ้าใหม่อย่างไร ในราคาไม่เกินงบประมาณ
9 "ตรวจสอบใจว่าอยากซื้อหรือไม่"
เป็นกฎที่ดัลรีมเพิลแนะนำไว้เป็นข้อสุดท้ายว่า หากผู้บริโภครู้สึกตัวเองว่ากำลังดึงบัตรเครดิตออกมา เพื่อซื้อของบางอย่างที่ขาดไม่ได้ในชีวิตนี้ ขอให้หยุดความคิดที่จะซื้อไว้สักพักหนึ่ง โดยดัลรีมเพิลขอให้ผู้บริโภควัดใจตัวเองอีกสักรอบ รอคอยสัก 2-3 วัน หรือ สักสัปดาห์หนึ่งค่อยกลับมาดูสิ่งของที่จะซื้อใหม่อีกครั้ง หากผู้บริโภคคิดว่ามีชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าขาดสิ่งของที่หมายตาอยากได้ แสดงว่าสิ่งของชิ้นนั้นสำคัญควรค่าแก่การซื้อ แต่ในทางกลับกัน หากผู้บริโภคลืมทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งของชิ้นนี้ หมายความว่าสิ่งของกลับไม่มีค่าหรือจูงใจให้ซื้ออีก
ข้อมูลจาก
http://www.gracezone.org/index.php/knowlage/233-2009-01-16-18-26-05
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น